วันจันทร์ที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด



เงินลงทุน
ประมาณ 200,000 บาท

รายได้

                ประมาณ 800 บาท/วัน

วัสดุ/อุปกรณ์

                เครื่องกรองน้ำ ชุดทำความสะอาดถังน้ำ ถังน้ำพลาสติก (ขนาด 20 ลิตร) ขวดใส่น้ำ(ขนาด 1 ลิตร) และรถยนต์ที่ใช้ในการขนส่งน้ำ

วิธีดำเนินการ

1.      เตรียมพื้นที่เพื่อใช้ติดตั้งเครื่องกรองน้ำ และใช้เป็นที่เก็บ ขวดน้ำ ถังน้ำ
2.      ติดต่อหาซื้อเครื่องกรองน้ำ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น ชุดทำความสะอาดถังน้ำ ขวด และถังพลาสติก ซึ่งเครื่องกรองน้ำนี้มีกำลังผลิตตั้งแต่ 100 ลิตรต่อชั่วโมงถึง 20,000 ลิตร/ชั่วโมง โดยบริษัทจะส่งพนักงานมาติดตั้งระบบกรองน้ำให้
3.      ก่อนที่จะดำเนินธุรกิจได้ จะต้องส่งตัวอย่างน้ำไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ตรวจคุณภาพน้ำ โดยเสียค่าธรรมเนียม 3,100 บาท หากตรวจผ่านก็ให้ยื่นเรื่องต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากนั้นทางเจ้าหน้าที่สารวัตรอาหารและยาจะเข้ามาตรวจสภาพสถานที่ผลิต หากพบว่าขั้นตอนการผลิตถูกหลักอนามัยก็จะมอบหนังสืออนุญาตการผลิต พร้อมกับเลขที่ฉลากอาหารให้ด้วย
4.      เมื่อได้รับใบอนุญาตแล้ว ก็สามารถประกอบธุรกิจขายน้ำได้อย่างถูกกฎหมาย ในขั้นต่อไปต้องออกหาตลาด โดยสามารถเข้าไปแนะนำสินค้ากับลูกค้าได้ว่า เป็นสินค้าที่มีคุณภาพผ่านการรับรองจาก อย. มาแล้ว
5.      เครื่องกรองน้ำที่ซื้อมาใช้งานนี้ควรพิจารณาเครื่องที่สามารถกรองได้ทั้งน้ำประปา และน้ำบาดาล มีคุณสมบัติที่ช่วยกรองสนิมเหล็ก หินปูนขจัดกลิ่น และสารตกค้างต่าง ๆ ได้
6.      นำขวด และถังพลาสติกที่จะใช้บรรจุน้ำ มาล้างด้วยชุดทำความสะอาดถังน้ำให้สะอาด
7.      นำน้ำที่ผ่านกรรมวิธีในการกรองจากเครื่องกรองน้ำแล้ว บรรจุลงในขวด และถังพลาสติกที่เตรียมไว้แล้ว
8.      ปิดผนึกขวดน้ำ และถังน้ำทุกใบ ก่อนนำขึ้นรถเพื่อนำไปส่งให้ลูกค้า
9.      ราคาขายส่งน้ำ บรรจุถัง 20 ลิตร ถังละ 7 บาท ในขณะที่ต้นทุนเพียง 2 บาท     เท่านั้น โดยร้านค้าจะขายให้ผู้บริโภคราคาถังละ 12 บาท ส่วนน้ำบรรจุขวดจะไม่ค่อยได้กำไร เพราะเฉพาะขวดพลาสติกต้นทุนจะตกขวดละ 1.50 บาท แล้วแต่นำไปจำหน่ายให้ร้านค้าขวดละ 2.30 บาทเท่านั้น แต่ก็ต้องทำควบคู่กันไปเพื่อเอาใจลูกค้า โดยลูกค้าจะนำไปจำหน่ายในราคา 5-6 บาท
ข้อแนะนำ
ปัจจุบันน้ำดื่มบรรจุขวด-ถังพลาสติก มีผู้ผลิตหลายราย แต่ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ ผู้ประกอบอาชีพนี้ต้องขยันเดินตลาดหรือไปติดต่อร้านค้าขายของชำในหมู่บ้านเป็นประจำ แต่อย่างไรก็ตามการผลิตน้ำดื่มควรคำนึงถึงผู้บริโภค ขั้นตอนการผลิตควรสะอาดถูกหลักอนามัย

วันอาทิตย์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กรอบรูปวิทยาศาสตร์



เงินลงทุน
ประมาณ  30,000  บาท 

รายได้

ขึ้นอยู่กับขนาดของภาพ เช่น ภาพขนาด 8 x 10 นิ้ว ราคาประมาณ 130 บาท แบบเคลือบด้านราคา 160 บาท หากเป็นภาพขนาด 20 x 30 นิ้ว แบบเคลือบเงาราคา 700 บาท และ 800 บาท แต่หากเป็นกรอบลอย คือเป็นรูปลอย ๆ ไม่มีเนื้อไม้ ราคาก็จะต่ำลงเล็กน้อย ราคาดังกล่าว เมื่อหักเปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จะเหลือกำไรสุทธิประมาณ 20-30 %

วัสดุ/อุปกรณ์

อุปกรณ์หลักๆ ประกอบด้วย ไม้อัดหรือไม้ MDF ความหนา 9 มิลลิเมตร ราคา 210 บาท/แผ่น ขนาด 3 มิลลิเมตร ราคา 90 บาท กระดาษลายไม้มีหลายแบบหลายราคา เฉลี่ยแล้ว 20 กว่าบาท/เมตร หรืออาจใช้พีวีซีลายไม้ซึ่งสวยงามและคงทนกว่า ราคาประมาณ 40 บาท น้ำยาโพลีเอสเตอร์เรซิ่น 70 บาท/กิโลกรัม  ตัวเร่งปฏิกิริยา 230 บาท/กิโลกรัม ฟิล์มเคลือบ 60-100 กว่าบาท/เมตร วัตถุดิบอื่นๆ เช่น กระดาษอัด กระดาษลายหน้า พีวีซีข้าง คัตเตอร์ ไม้บรรทัดเหล็ก   กระดาษกาว กระดาษลาย กระดาษลายหลัง ขาตั้ง กระจก หูแขวนรูปภาพ น๊อตติดขาตั้งและหูแขวน ไขควง ดิ้นทอง กาวลาเท็กซ์ เลื่อยไฟฟ้า ตะไบแบน (เครื่องเจียร์) ลูกกลิ้ง เลื่อยไฟฟ้า  น้ำยากันซึม กระดาษทราย  ทินเนอร์ น้ำมันสน  ถ้วยพลาสติก  สว่านเจาะรู ปากกาเคมีลบไม่ได้ (ตราม้า)  ไม้ไอศกรีม  กาวน้ำหรือสเปรย์แล็คเกอร์
แหล่งจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์
1.      ร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์
2.      องค์การค้าคุรุสภา
วิธีทำ
1.        ติดกระดาษลายกับไม้ ใช้ลูกกลิ้งกลิ้งให้เรียบ พอแห้งใช้คัตเตอร์ตัดให้ชิดกับไม้มากที่สุด จากนั้นนำรูปภาพไปวัดขนาดให้อยู่กลางแผ่นไม้แล้วทำจุดกำกับไว้
2.        นำรูปภาพไปทากาววางลงบนไม้ตามจุดที่กำกับไว้ ใช้ลูกกลิ้งกลิ้งภาพให้เรียบแน่น
3.        ติดดิ้นทองรอบรูปภาพ
4.        ติดกระดาษกาวทั้ง 4 ด้านของไม้ ส่วนที่เลยให้พับเก็บไว้ด้านหลัง
5.        ผสมน้ำยาเรซิ่นในอัตราส่วนเรซิ่น 1 แก้ว ต่อตัวเร่ง 1 ช้อน แล้วใช้ไม้คน
6.        เทน้ำยาเรซิ่นลงตรงกลางภาพ แล้วใช้แผ่นฟิล์มไมร่าวางทับบนน้ำยา
7.        ใช้ลูกกลิ้งลากกลางภาพไปทั้ง 4 มุม
8.        คว่ำภาพทิ้งไว้ให้แห้ง ดึงฟิล์มไมร่าออกแล้วตกแต่งขอบให้เรียบ

ตลาด/แหล่งจำหน่าย

เปิดร้านขายที่บ้าน หรือนำไปจำหน่ายตามงานแสดงสินค้าและร้านจำหน่ายของที่ระลึก

สถานที่ฝึกอบรม

1.      สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้ โทร. 211-2052, 2112056
2.      วิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร โทร. 223-1069, 223-2276
3.      โรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร (ดินแดง 2) โทร. 246-5769

วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

เครื่องหอมจากสมุนไพร (พิมเสน-การบูร)




การทำเครื่องหอมจากสมุนไพร (พิมเสน-การบูร)
ประโยชน์การใช้สอย
               ทำเป็นของชำร่วย ตามงานต่างๆ แขวนในรถยนต์ ปรับอากาศให้ห้องนอน ตู้เสื้อผ้า หรือในที่อับชื้น ทำให้สดชื่น
การลงทุน

ค่าอุปกรณ์

1.             เครื่องบดแห้ง
2.             หม้อสแตนเลส
3.             ทัพพี

ค่าวัสดุ

1.             การบูร
2.              พิมเสน
3.             กระดาษสา                                   1             แผ่น
4.              ริบบิ้น                                          1             ม้วน
5.              กาว 2 หน้า                                  1             ม้วน
6.              ถุงพลาสติก-สก็อตเทป              32           ใบ
วิธีทำ
               -กระดาษสาให้ได้ 32 ชิ้น ต่อ 1 แผ่น ใช้กาว 2 หน้า ติดให้เป็นถุง
              -ทำโบว์ให้สวยงามด้วยริบบิ้น นำส่วนผสมกรอกใส่ถุง เย็บปากถุง ให้สวยงาม
รายได้
               1 ชุด ผลึกได้ 32 ถุง ขายพร้อมอุปกรณ์ ชุดละ 250 บาท
              ราคาขายส่ง
              ถุงละ 10 บาท (32 ถุงจะได้ 320 บาท ) ( 32 ถุงได้กำไร 70 บาท)
              ราคาขายปลีก
              ถุงละ 10 บาท (32 ถุงจะได้ 800 บาท ) ( 32 ถุงได้กำไร 550 บาท)
ข้อแนะนำ
                ประดิษฐ์ให้สวยงาม และเรียบร้อย  


วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

อาชีพไม้ดััด




ความรู้เรื่องไม้ดัด
การแสวงหาความสุขในชีวิตเป็นสิ่งพึงปรารถนาของทุกคน แต่ในสภาพปัจจุบันบ้านเมืองของเราเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว  สภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลง      ทำให้คนส่วนใหญ่ต้องรีบเร่งขวนขวายประกอบอาชีพเพื่อปากท้องความอยู่รอดของตนและครอบครัว  ทำให้ในแต่ละวัน มีเวลาว่างเหลือน้อยมากบางท่านใช้เวลาว่างนี้ สรรหากิจกรรมต่าง ๆ มาทำได้มากมาย ไม่มีวันหมดสิ้นแต่ก็หลายท่านที่ยังมองไม่เห็นว่ากิจกรรมใด จะเหมาะสมและทำได้ ก็มักจะปล่อยเวลาให้หมดไปโดยไร้คุณค่า
              การปลูกไม้ดัด จัดเป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความเหนื่อยล้าและให้ความสุขทางใจได้ ทั้งนี้เพราะไม้ดัด  นอกจากจะให้ความสวยงามในเชิงธรรมชาติแล้ว   ยังเสมือนเป็นโอสถขนานวิเศษที่      ช่วยบำรุงสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ ลดความเครียดจากงานในหน้าที่ได้เป็นอย่างดี
              ไม้ดัดเป็นหนึ่งในตัวแทนของธรรมชาติ  ที่คนส่วนมากชมชอบ    แต่ไม่ได้สนใจที่จะปลูกและบำรุงรักษาอย่างจริงจังโดยแต่ละท่านก็มีเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป    บ้างก็ว่าราคาแพงหรือจะเริ่มต้นจากการนำต้นตอมาเลี้ยงแล้วดัดเอง  ก็ต้องใช้เวลาหลายปีไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่พอ
              จริงอยู่การปลูกเลี้ยงไม้ดัดต้องอาศัยใจรักเป็นประการสำคัญ   มีความมานะอดทนรอคอย ดูแลประคบประหงมอยู่เสมอ  แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้เวลามากมายในการดูแลหากเราเลี้ยงไว้    ดูเล่นสัก 2-3 ต้น เพื่อแสวงหาความสุข
              มีนักเล่นไม้ดันรุ่นเก่า ๆ ได้ให้นิยามเป็นเชิงเปรียบเทียบโดยเรียกไม้ดัดว่า "ไม้หัดนิสัย"
              ท่านที่เป็นผู้นำของบุตรหลานทั้งหลาย    อาจจะปลูกฝังโน้มน้าวจิตใจและพัฒนาบุคลิกลักษณะนิสัยของบุตรหลานได้  โดยการเป็นผู้นำเลี้ยงไม้ดัด  เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชน   พร้อมทั้งแนะนำ  ให้เขาเลี้ยงเป็นการส่วนตัวบ้าง    ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะทำให้อนุชนรุ่นหลังมีความรักในต้นไม้และธรรมชาติแวดล้อม เกิดความคิด ตระหนัก หวงแหน ทั้งยังเป็นการช่วยกันอนุรักษ์ไม้ดัดเอกลักษณ์แห่งความเป็นไทยอีกด้วย
ลักษณะของไม้ดัดไทยและบอนไซ  
โดยทั่ว ๆ ไปถ้าเอ่ยถึงไม้ดัดแล้ว ก็จะเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าบางท่านอาจยังมีความเข้าใจที่สับสนไปบ้างโดยที่แยกแยะไม่ได้ว่า รูปแบบไหนเป็นไม้ดัดไทยและรูปแบบไหนเป็นบอนไซ ซึ่งโดยแท้จริงแล้วไม้ดัดที่เป็นศิลปะประจำชาติ จะแตกต่างจากบอนไซของญี่ปุ่นโดยสิ้นเชิง   บอนไซของญี่ปุ่น เป็นการนำเอาต้นตอไม้ใหญ่หรือไม้ประดับที่เราปลูกเลี้ยงไว้มาดัดและจัดรูปทรงให้เหมือนไม้ใหญ่ตามธรรมชาติและปลูกเลี้ยงไว้ในกระถางแบน
              ไม้ดัดไทย เป็นการขุดเอาไม้ขนาดโตพอสมควรที่มีอยู่แล้วมาปลูก ให้มีชีวิตรอดแล้วเริ่มทำการตกแต่งกิ่งที่แตกขึ้นใหม่ ดัดให้เปลี่ยนสภาพรูปทรงต่างไปจากธรรมชาติดั้งเดิม โดยดัดรูปทรงให้เป็นไปตามแบบฉบับที่กำหนดไว้ หรือบางท่านก็จินตนาการขึ้นมาใหม่ นั่นก็ถือว่านอกแบบตำราตามใจรักใจชอบของบุคคลนั้น
              การปลูกเลี้ยงไม้ดัดในทวีปเอเซีย ดั้งเดิมนั้นมี 3 ประเทศเท่านั้น คือ ประเทศจีน ญี่ปุ่นและไทย ในประเทศจีนคงเหลือให้เห็นเพียงในภาพวาดตามแจกัน กระถางต้นไม้และฝาผนังเท่านั้น ส่วนประเทศญี่ปุ่นจะเป็นที่นิยมและมีชื่อเสียงไปทั้งโลกก็ว่าได้
              สำหรับประเทศไทย การเลี้ยงไม้ดัดยังคงนิยมกันในวงแคบ ๆ ทั้งนี้เพราะการเลี้ยงดู การตกแต่งให้เป็นไปตามแบบดั้งเดิมนับว่ายุ่งยาก ต้องใช้ความมานะพยายามและใช้เวลา 4-5 ปีทีเดียว กว่าจะได้ไม้ดัดที่มีความงดงามตามศิลปะแบบไทยๆ
              ฉะนั้น ไม้ดัดจึงเป็นการแสดงออกให้คนทั่วไปมองเห็นถึงศิลปะอันสวยสดงดงามของไทยเรา น่าที่เราและลูกหลานจะได้สืบทอดมรดกอันทรงคุณค่าให้อยู่ต่อไปนาน ๆ และทำให้มีชื่อเสียง เช่นเดียวกับบอนไซของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก
ประวัติความเป็นมาของไม้ดัดไทย
ไม้ดัดไทย เริ่มมีการปลูกเลี้ยงกันมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย     แต่ไม่แพร่หลายนัก จะมี  ก็เพียงในกลุ่มเจ้าขุนมูลนายเท่านั้น  การเสียกรุงครั้งที่ 2 ในปี พ.. 2310  ทำให้การเลี้ยงไม้ดัดหยุดชะงักไประยะหนึ่งแล้วกลับมานิยมกันอีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
              ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกไม้ดัดไว้ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งก็ยังมีให้เห็นอยู่ถึงปัจจุบันนี้
              หลักฐานเอกสารการเลี้ยงไม้ดัดเท่าที่พบ ปรากฏในกลอนเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนขุนแผนย่องขึ้นเรือนขุนช้างเพื่อเข้าหานางวันทอง ความว่า
กระถางแก้วเกดพิกุลแกม                                  ยี่สุ่นแซมมะสังดูไสว
สมอรัดดัดทรงสมละไม                    ตะขบข่อยตั้งไว้จังหวะกัน
              ตำราไม้ดัดมีขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เขียนโดยหลวงมาคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) เขียนเป็นโคลงตำราไม้ดัด ในตำราได้กล่าวว่า     ได้รับความรู้เรื่องไม้ดัดจากพระด้วง ซึ่งเดิมเป็นข้าราชการเคยดูและเรื่องไม้ดัดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
                                                    ข่อย : ไม้ดัดของไทย


ตอนที่ 2
แม่แบบของไม้ดัดไทย
แม่แบบของไม้ดัดประเภทต่าง ๆ
ลักษณะของแม่แบบ หรือต้นแบบของไม้ดัดไทย      อาศัยรูปลักษณะโครงสร้างตามธรรมชาติของต้นไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ทั่วไป เป็นแนวคิดในการแบ่งแยกประเภทซึ่งแบ่งได้ดังนี้
           ประเภทแรก    เป็นไม้ที่ดัดให้เป็นไปตามโคลงศิลปะของไทย ซึ่งดูแล้วจะไม่เหมือนกับต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ ตามโคลงตำราว่าด้วยเรื่องไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ (ช่วง ไกรฤกษ์) ได้กล่าวไว้ในโคลงว่ามี 7 ชนิดด้วยกัน คือ
1. ไม้ขบวน                                        2. ไม้ฉาก
3. ไม้หกเหียน                                                 4. ไม้เขน
5. ไม้ป่าข้อม                                 6. ไม้กำมะลอ
7. ไม้ตลก
  ประเภทที่สอง  เป็นไม้ที่ดัดให้ดูเหมือนกับไม้ใหญ่ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติมี 2 ชนิด คือ
   1. ไม้ญี่ปุ่น                        2. ไม้เอนชาย
ไม้ดัดแต่ละชนิด มีลักษณะดังรายละเอียดต่อไปนี้
                                       ไม้ขบวนวาดเลี้ยว                          วงเวียน ต้นนา
                         ตอต่ำตัดเรือนเจียน                       เรียบร้อย
                         ที่กิ่งชอบใช้เนียน                                        สนิทช่อง ไฟแฮ
                         ทรงฟุ่มชิดเชิดช้อย                      ช่องชั้นจังหวะว่าง
               ไม้ขบวน หรือไม้กระบวน ลักษณะของทรงต้นจะตรง หรือคดเล็กน้อยก็ได้ ต้นต่ำดัดกิ่งให้วกวนเวียนขึ้นไปวนสุดยอด     การจะดัดแต่งกิ่งจะไม่กำหนดรูปทรงแน่นอนผู้ดัดจะดัดพลิกแพลงอย่างใด  ก็ได้ แต่สิ่งสำคัญจะต้องจัดช่อพุ่มใบให้จังหวะช่องไฟดูพอเหมาะพอดีและแต่งให้เรียบร้อย   โดยทั่วไปนิยมทำเป็น 9 ช่อ
               ไม้ขบวนสามารถดัดแต่งช่อพุ่มได้ง่ายกว่าไม้ดัดชนิดอื่น ๆ จึงได้รับความนิยมอย่างมาก
                    ฉากแบบโคนทอดน้อย                       หนึ่งงาม
                    ที่คดคบขดตาม                                               หักค้อม
                    ตอย่อกิ่งต่อสาม                                              สมแบบ เดิมนอ
                    ต้นชดเค้ากิ่งหย้อม                                          อย่าช้าเสียคม
               ไม้ฉาก ลักษณะทรงต้นจะตรงขึ้นมาดัดหักเป็นรูปมุมฉาก     กิ่งก็ดัดแต่งให้เป็นรูปมุมฉากเช่นเดียวกับลำต้น ส่วนปลายกิ่งก็ปล่อยให้เป็นพุ่มใบ นิยมทำพุ่มใบ 9 ช่อ ไม้ดัดฉากนี้จะทำเป็นต้นเดี่ยวหรือต้นคู่ ในลักษณะรูปทรงแบนและฉากบังตาก็ได้
               ไม้ฉากเป็นไม้ดัดที่ดัดมากที่สุด ผู้ที่จะดัดจะต้องเป็นผู้ที่มีฝีมือ และมีความวิริยะ ความอดทนสูงมากจึงจะทำได้
                                       หกเหียนเห็ดดัดคู่                                          ดัดทับ
                                         ตอเผล้เร่เรือนรับ                                        ลอดพลิ้ว
                                         ที่ยอดทอดทวนทับ                                      ทบกิ่ง กลแฮ
                                           ดูดุจหมัดมวยงิ้ว                                        ผงาดง้ำผงกหงาย
               ไม้หกเหียน ลักษณะทรงต้นมีการดัดต่างกิ่งให้ย้อนกลับลงมาทางโคนต้นก่อน แล้วจึงดัดทำกิ่งให้โค้งงอขึ้นไปรอบ ๆ ต้น การดัดแต่งกิ่งช่อพุ่มของไม้หกเหียนนี้ ตามตำรากำหนดให้ทำกิ่งและช่อพุ่มจำนวน 11 ช่อ ไม้ดัดชนิดนี้จึงอยู่ในประเภทที่ดัดยาก
                                        ไม้เขนเบนกิ่งท้าย                                         ทวนลง
                          โคนปุ่มภูต้นตรง                                                         เกร่อเก้อ
                          ที่ยอดทอดหวนหง เห็ดขด                                            คู่แฮ
                          ดุจมถคเหลียวชะเง้อ                                                    ชะโงกเงื้อมมาหลัง
                ไม้เขน   ต่างจากไม้ดัดชนิดอื่นตรงที่จะให้ความสำคัญที่ทรงต้น  โดยต้นจะต้องมีปุ่มที่โคนและกิ่งต่ำสุดต้องดัดลง  ให้อยู่ตรงข้ามกับกิ่งที่ 2      และกิ่งยอดโดยเฉพาะกิ่งยอดต้องหักเอี้ยวลงมาข้างหลังก่อนแล้วจึงดัดวกกลับขึ้น  สำหรับกิ่งที่ 2  ดัดให้ได้จังหวะ รับกับกิ่งยอด  ไม้เขนนี้นิยมทำกิ่งและช่อพุ่มใบ 3 ช่อ จึงจะดูสวยงาม
                                         ป่าข้อมโคนปุ่มต้น                                      ตามตรง
                          คบแยกสามกิ่งจง                                        จัดเก้า
                          จังหวะระยะวง เวียนรอบ                            กลมแฮ
                          ดช่องไฟให้เท่า                                                          ส่วนต้นดัดเรือน
              ไม้ป่าข้อม ลักษณะทรงต้นตรงขึ้นไปถึงยอด  ตรงโคนมีปุ่มรอยตัด  การตัดแต่งกิ่งดัดให้วนเวียนรอบ ๆ ต้นขึ้นไป  การทำกิ่งและช่อพุ่มกำหนดให้ทำ 3 กิ่ง ๆ ละ 3 ช่อ รวมทั้งต้น 9 ช่อ และต้องจัดทำกิ่งและช่อให้สม่ำเสมอกัน
                  ไม้ญี่ปุ่นรวมทั้ง                                     กำมะลอ
                   ตลกรากเอนชายมอ                             มากใช้
                   ท่วงทีที่ขันพอ                                                      พูมตลก
                   คงกิ่งจังหวะได้                        ช่องพร้อม เรือนเสมอ
                ไม้กำมะลอ ลักษณะทรงต้นตรงขึ้นไป จะมีกิ่งที่โคนหรือไม่มีก็ได้ แต่ส่วนยอดจะต้องดัดให้หันเหหมุนเวียนจากยอดวกวนชี้ลงล่างไม่ว่าจะเป็นลักษณะใดจึงจะสมชื่อกำมะลอ คือไม่ใช่ของจริง
              ฉะนั้นกิ่งยอดจะต้องทำให้หักเหชี้ลงข้างล่างแทนที่จะชี้ขึ้นฟ้าเหมือนทั่ว ๆ ไป และถ้ายิ่งยักเยื้องพิสดารได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี จะมีกิ่งและช่อมากน้อยเท่าไรก็ไม่กำหนด ขอให้ดูสวยงามเข้ารูปทรงเท่านั้นเป็นพอ
               ไม้ตลก  เป็นไม้ดัดที่ตั้งใจดัดให้ผู้พบเห็นแปลกตาทำนองตลกขบขัน มี 2 ลักษณะคือ ไม้ตลกหัวและไม้ตลกราก       ไม้ตลกหัว จะมีส่วนบนสุดยอดของลำต้นเป็นก้อนกลุ่มยิ่งใหญ่โตเท่าไรยิ่งดี ลักษณะลำต้นจะเป็นกระปุ่มกระป่ำ มีกิ่งมีช่อน้อย   ไม้ตลกราก จะมีรากลอยหรือรากบางส่วนโผล่พื้นดินขึ้นมาดูไม่เรียบร้อย  ไม้ดัดชนิดนี้ ถ้าจะให้สวยงามจริง ๆ ต้องมีทั้งตลกหัวและตลกรากอยู่ในต้นเดียวกันและทำช่อกิ่งเพียงเล็กน้อยจะดูสวยงาม
              ไม้ญี่ปุ่น ลักษณะเป็นไม้ดัดที่คล้ายกับไม้แคระทรงญี่ปุ่นและวิธีการดัดก็คล้าย ๆ กัน คือทำโคนต้นใหญ่  และบังคับให้แคระแกร็นปลายต้นเรียว  ลำต้นจะตรงหรือเอนเล็กน้อยก็ได้   กิ่งและช่อพุ่มดัดแต่งให้กระจายตามรูปทรงไม้ใหญ่ในธรรมชาติ      ไม้ดัดชนิดนี้จะปลูกติด 2 ต้นคู่ติดกัน โดยให้มีขนาดลดหลั่นกันลงมาหรือจะทำเฉพาะต้นเดี่ยว ก็ได้
               ไม้เอนชาย หรือเอนชายมอ ลักษณะลำต้นตรงขึ้นมา แล้วเอนออกไปทางด้านข้างดูเหมือนกับต้นไม้ที่ขึ้นตามหน้าผา หรือตามตลิ่งโดยมีรากยึดเกาะด้านข้าง
                          เก้าชนิดนับชื่ออ้าง ออกนาม                       ไม้เฮย
                          โดยบุราณเรียกตาม                                     ต่อถ้อย
                          คิดดัดแต่งตัดงาม                                                       คงเงื่อน นั้นนา
                          พอประจักษ์นามน้อย                                  เนื่องไม้มีเดิม
              ไม้ดัดทั้ง 9 ชนิด ตามโคลงตำราไม้ดัดของหลวงมงคลรัตน์ ที่กล่าวเสนอมานั้น เป็นลักษณะต้นแบบของข่อยดัดของไทยเราโดยแท้ สมควรที่ผู้เล่นไม้ดัดควรยึดถือเป็นแบบอย่าง แต่สำหรับในทางปฏิบัติแล้วการดัดและตกแต่งกิ่งช่อพุ่มอาจดัดยักเยื้องต่างไปบ้างตามรูปทรงต้นตอ แต่ก็อย่าให้ถึงกับเสียรูปทรงจากโคลงตำราเดิมที่กำหนดไว้ ทั้งนี้เพื่อการอนุรักษ์และเชิดชูศิลปะประจำชาติของไทยเราสืบต่อไป
การคัดเลือกและเตรียมพันธุ์ไม้ดัด
ลักษณะรูปทรงของไม้หุ่น
ต้นไม้ที่นำมาทำเป็นไม้ดัดเราจะเรียกว่า  "ไม้หุ่น"  ลักษณะการได้มาของไม้หุ่นจะมาจาก 2 แหล่ง คือ
1.                                                             ได้จากต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ซึ่งอาจจะออกไปหาขุดเองหรือหาซื้อจากผู้ที่ขุดมาขาย
2.               ปลูกเลี้ยงขึ้นมาเอง
3.                 ไม่ว่าจะหาไม้มาได้ในลักษณะใดก็ตาม      การดัดตกแต่งจะยุ่งยากหรือจะต้องใช้เวลามากน้อย  แค่ไหน ก็จะขึ้นอยู่กับรูปทรงของไม้หุ่นเป็นสำคัญโดยทั่ว ๆ  ไป  นักเล่นไม้ดัดจำแนกรูปทรงไม้หุ่นไว้
4.                                                             แบบ ด้วยกัน คือ
1.                                 ไม้บรรจบป่า
2.                                 ไม้บรรจบหุ่น
3.                                 ไม้วิชา
                ไม้บรรจบป่า จะเป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ    รูปทรงกิ่งก้านคดเคี้ยวไปมา เนื่องจากถูกสัตว์เหยียบย่ำหรือเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ใต้พุ่มไม้ใหญ่ชนิดอื่น ๆ ทรงพุ่ม      แลดูแคระแกร็นลักษณะทรงต้นดี    เข้าที่เกือบใช้ได้แล้วอาจขาดเพียง 2-3 กิ่งเท่านั้นไม้ลักษณะนี้จึงเหมาะสมต่อการนำมาดัดให้ได้รูปทรง เพียงเพิ่มกิ่ง เพิ่มช่อใบ เว้นช่องไฟของช่อใบให้รับหุ่นหรือทรงต้น ก็จะทำให้เป็นไม้ดัดที่ดูงานได้ โดยใช้เวลาอีกไม่มากนัก การเลือกไม้ลักษณะนี้มาทำเป็นไม้ดัด อาจใช้เวลาเพียง 2-3 ปี ก็เสร็จสมบูรณ์
              ไม้บรรจบหุ่น เป็นไม้ที่มีลักษณะรูปทรงหุ่นใกล้เคียงกับรูปแบบไม้ดัดที่จะทำ   เพียงนำมาทำการดัดแต่งอีกเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็เริ่มทำกิ่งช่อต่อไปได้ไม้บรรจบหุ่นนี้เหมาะสำหรับนำมาดัดแต่งทำเป็นไม้ดัดลักษณะไม้ตลกไม้ขบวนไม้เอนชายและไม้ญี่ปุ่นเท่านั้น
              การเลือกไม้ลักษณะนี้มาทำเป็นไม้ดัด จะต้องใช้เวลานานอาจจะถึง 9 ปี จึงจะเสร็จสมบูรณ์
               ไม้วิชา เป็นไม้ที่มีลักษณะทรงต้นเพียงท่อนเดียว          จะนำมาทำเป็นรูปร่างอย่างไรไม่ได้เลย     เป็นไม้หุ่นที่นำมาทำไม้ดัดยากที่สุด     จะต้องนำมาเลี้ยงให้ต้นแตกกิ่งกระโดงใหม่แล้วจึงจะทำการปิดกระหม่อมหุ่น (การปิดกระหม่อม หมายถึง การที่ดัดกิ่งที่แตกใหม่มาทับรอยตัดของต้นต่อเดิมเมื่อกิ่งกระโดงได้ขนาดและเชื่อมกับต้นตอได้ดีแล้ว  ก็จะใช้กิ่งกระโดงนั้นเป็นหุ่นทำกิ่งช่อต่อไป ผู้ดัดจะต้องใช้ฝีมือ  และมีความวิริยะอุตสาหะเป็นเลิศ    จึงจะทำได้สำเร็จ การใช้ไม้ชนิดนี้มาทำไม้หุ่นต้องใช้เวลามากกว่าจะได้ไม้ดัดที่เสร็จสมบูรณ์อาจจะถึง 15-18 ปีก็ได้  ไม้วิชานี้ถือว่าเป็นไม้ที่ใช้ทดสอบฝีมือผู้ดัดได้เป็นอย่างดี

การเตรียมพันธุ์ไม้ดัด

ในอดีตที่ผ่านมา       ผู้ที่จะเลี้ยงไม้ดัดจะต้องไปเสาะหาไม้หุ่นจากป่าธรรมชาติซึ่งมีอยู่มากมาย การขุดก็ต้องค่อย ๆ  ขุดล้อมโคนต้นให้มีดินติดมา   ตัดกิ่งและรากที่ยาวเกินไปออก     ใช้กระสอบหรือ  วัตถุอื่นปิดคลุมส่วนดินและรากเอาไว้ ในขณะที่เคลื่อนย้าย  จะต้องระมัดระวังอย่าให้กระเทือนมาก
     นำมาปลูกและใช้หลักปักยึดไว้ให้แน่น เพื่อป้องกันไม่ให้ต้นเอียงหรือล้มจะต้องปลูกทิ้งไว้สักระยะหนึ่ง  รอจนต้นไม้ฟื้นตัว และแตกกิ่งก้านใหม่จึงจะค่อยเริ่มลงมือดัดตกแต่งตามต้องการ
     ในปัจจุบันมีผู้ปลูกเลี้ยงไม้ดัดกันมากขึ้น จึงเกิดมีอาชีพขุดต้นตอขาย ผู้ที่อยู่ใกล้แหล่งธรรมชาติที่มีต้นตอขึ้นอยู่แล้วมากมาย จะเลือกขุดและนำมาพักเลี้ยงให้ฟื้นตัวดี เมื่อเริ่มแตกกิ่งก้านใหม่ จึงนำออกมาขายให้กับผู้ที่ต้องการปลูกเลี้ยงต่อไป
     ในอนาคต คงจะต้องใช้วิธีปลูกเลี้ยงพันธุ์ไม้ขึ้นมาเอง เพราะพันธุ์ไม้ที่มีอยู่ตามธรรมชาตินับวันก็จะหายากและขาดแคลนมากขึ้นเรื่อย ๆ
การตัดแต่งกิ่งช่อใบ
การปิดกระหม่อมทำหุ่นไม้ดัด
ลักษณะของไม้หุ่นที่มีรูปทรงเป็นลักษณะไม้หุ่นเดียว (ไม้วิชา) เมื่อนำมาปลูกและฟื้นตัวได้ดี มีกิ่งกระโดงแตกใหม่แล้วจะต้องทำการปิดกระหม่อม
ลักษณะไม้ท่อนเดียวเมื่อเจริญเติบโตดีแล้วให้เลื่อยต้นตอ สูงจากพื้นดินพอเหมาะตามต้องการ ต่อมาจะเกิดกิ่งกระโดงแตกออกมาใต้บริเวณรอยตัด ถ้ากิ่งกระโดงแตกต่ำจากรอยตัดมากเกินไป ก็ให้ตัดหัวตอลดต่ำลง เมื่อกระโดงยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ก็ให้เริ่มทำการปิดกระหม่อมทำหุ่น โดยการค่อย ๆ กับหลักให้แน่น ปล่อยให้กิ่งกระโดงยาวออกไปเรื่อย ๆ แต่ต้องคอยริดยอดหรือให้กิ่งกระโดงโตเร็วขึ้น รอจนกว่ากิ่งกระโดงจะโตเชื่อมปิดกระหม่อมได้เรียบร้อยดีแล้ว ก็ให้ตัดกิ่งกระโดงออกเหลือไว้เท่าที่ต้องการเท่านั้นเพื่อใช้กิ่งกระโดงนี้เป็นหุ่นเลี้ยงกิ่งแยกต่อไป
แต่ละหุ่นจะปล่อยให้แตกกิ่งแยกเท่าไรนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะทำไม้ตัดชนิดใดจากรูปแบบทั้ง 9 ชนิด ที่กล่าวไว้แล้วในตอนที่ 2
เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง
การเตรียมต้นตอ เพื่อการปลูกเลี้ยงเป็นไม้ดัดไม่ว่าต้นตอที่ได้มานั้นจะมีรูปแบบเป็นไม้บรรจบป่าหรือไม้บรรจบหุ่น รูปทรงมักจะไม่งามตามความต้องการ คงต้องเลี้ยงและบังคับ ให้มีกิ่งก้านพุ่มใบตามรูปร่างรูปทรงที่ตัดเอาไว้
การดัดกิ่งก้านหรือบังคับให้แตกกิ่งก้านตรงจุดที่ต้องการ เป็นเรื่องที่ต้องทำเสมอ เทคนิคเหล่านี้จำเป็นต้องศึกษา ติดตามสังเกตจากผู้มีประสบการณ์ อย่างไรก็ตาม แบบเรียนคงบอกผู้ปลูกเลี้ยงไม่ได้ว่าจะต้องดัดตรงไหนให้แตกกิ่งใหม่กี่กิ่ง คงเสนอแนะเทคนิคการดัดและเสริมกิ่ง เท่าที่ผู้ปลูกเลี้ยงนิยมทำกันเท่านั้น
การดัดโค้งงอ
เป็นการจัดกิ่งพุ่มใบให้ระยะห่างได้จังหวะช่องไฟที่เหมาะสม การดัดลักษณะนี้จะใช้ลวดพันลำต้นและกิ่งที่ต้องการ การพันลวดควรคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
        1.                 ขนาดของลวด เลือกให้มีขนาดเหมาะสมกับลำต้นหรือกิ่งที่จะพันเพราะถ้าใช้ลวดเล็กเกินไป จะบังคับให้กิ่งโค้งตามต้องการไม่ได้ หรือถ้าลวดมีขนาดใหญ่ก็จะแข็งทำให้พันลำบาก
              2.         การพัน พันวนไปตามต้นกิ่งในลักษณะ 45 องศา    ทั้งระยะห่างพอประมาณอย่าให้หลวมหรือแน่นจนเกินไป
              3.         การดูแลหลังพันลวด หลังจากพันลวดเสร็จแล้วสามารถดัดได้ตามต้องการ การดัดควรทำอย่างเบามือ  อย่าพยายามดัดหรือหักลำต้นจนเกินไปเพราะอาจทำให้กิ่งและลำต้นเสียหายได้     เมื่อดัดเรียบร้อยแล้ว  ต้องปล่อยให้ต้นไม้อยู่ตัวสักระยะหนึ่ง ประมาณ 3-4 เดือน   จึงเอาลวดออกเพื่อป้องกัน   การสปริงตัวกลับของกิ่ง ถ้าเห็นว่ากิ่งมีรอยถูกลวดมัด ให้รีบแก้ออกแล้วพันใหม่ทันที
          การดัดกิ่งให้โค้งงออีกรูปแบบหนึ่ง  คือ  การใช้น้ำหนักถ่วงให้กิ่งโค้ง ห้อยงอลงเพราะแรงดึงหรือแรงถ่วง โดยใช้ก้อนหินหรือของหนัก ๆ  ผูกเชือกห้อยไว้กับกิ่งที่ต้องการดัด  จนเห็นว่ากิ่งอยู่ตัวดีจึงนำออก
การดัดฉาก
กรณีที่ต้องการกิ่งหักมุม หรือหักข้อศอก     ให้ใช้มีดปาดส่วนของกิ่งด้านที่ต้องการหักมุมออก แล้วหักพับตามต้องการโดยใช้ลวดบังคับหรือใช้เชือกผูกยึดจากนั้นใช้พลาสติกพันทับรอยปาดที่หักพับของกิ่ง  เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าได้ จะทำให้รอยแผลสร้างเปลือกออกหุ้มโดยเร็วขึ้น
การบังคับให้แตกกิ่ง
บางครั้งจำเป็นต้องบังคับให้แตกกิ่งใหม่ตรงตามจุดที่ต้องการซึ่งอาจเป็นได้ทั้งกิ่งที่มีตาและตรงที่ไม่มีตา              การบังคับให้แตกกิ่งตรงที่มีตาอยู่แล้ว ทำได้โดยการใช้พลาสติกพันลำต้นและกิ่งให้มิด เว้นไว้ตรงตาที่ต้องการให้แตกกิ่ง เมื่อตาที่เว้นไว้แตกกิ่งจะต้องรอให้กิ่งโตพอสมควร จึงเอาพลาสติกที่พันออก
               การบังคับให้แตกกิ่งตรงที่ไม่มีตา วิธีการทำได้โดยใช้สว่านเจาะทะลุ แล้วนำกิ่งยอดจากต้นอื่น มาตัดกิ่งแขนงเล็ก ๆ และรูดใบออกให้หมด  นำกิ่งดังกล่าวสอดให้ทะลุรูเจาะนั้น  แล้วผูกยึดกิ่งสอดนั้นให้แน่น  รอให้กิ่งที่สอดนั้นโตขึ้นเนื้อเยื่อและท่อน้ำนำอาหารก็จะเชื่อมประสานติดกันแน่น  จากนั้นจึงค่อยตัดโคนกิ่งที่สอดให้ชิดกับกิ่งหุ่น ซึ่งเมื่อนาน ๆ ไปก็จะดูเป็นกิ่งจากต้นหุ่นเดียวกัน
การทำช่อหรือพุ่มใบ
เมื่อมีการจัดหรือบังคับให้แตกกิ่งตรงตามจุดต้องการ     สิ่งที่ต้องดูแลต่อไปก็คือช่อหรือพุ่มใบ ไม้ดัดนอกจากรูปทรงต้นกิ่งก้านแล้ว       ช่อหรือพุ่มใบเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่จะทำให้ไม้ต้นนั้นดูงดงาม ดึงดูดความสนใจของผู้พบเห็น
               การทำช่อหรือพุ่มใบทำได้โดยการตัดยอดของกิ่งนั้นออก      ให้กิ่งนั้นแตกยอดและใบออกมา รอจนยอดนั้นมีใบเพสลาด (กิ่งอ่อนกิ่งแก่) จากนั้นก็ตัดยอดที่แตกออกมาใหม่นี้อีกครั้งในลักษณะเช่นนี้ติดต่อกันไป จนกระทั่งส่วนนั้นแตกยอดและใบมากขึ้นดูสวยงาม ก็ตัดแต่งให้ได้รูปทรงของช่อใบตามต้องการ
               การทำช่อหรือพุ่มใบ กิ่งหนึ่งจะแยกออกเป็นกี่ช่อที่พุ่มใบก็ได้   ขึ้นอยู่กับรูปแบบตามตำราและรูปทรงของไม้หุ่น แต่สิ่งที่ควรคำนึงคือ  การจัดช่อใบให้ได้ระยะที่พอเหมาะกับสัดส่วนและสัมพันธ์กัน เช่น การที่จะทำให้มี 9 ช่อ  ก็จัดวาง 2 ชั้นชั้นละ 4 ช่อ  และวางไว้ที่ยอดอีก 1 ช่อ รวมเป็น 9 ช่อพอดี
การบำรุงรักษา
การนำไม้ดัดลงปลูกในกระถาง
                หลังจากที่เริ่มดัดแต่งกิ่งช่อใบจนกระทั่งได้ไม้ดัดที่เข้ารูปเข้าทรงตามรูปแบบที่ต้องการแล้ว ก็จะทำการขุดแล้วนำไปปลูกในกระถาง เพื่อที่จะได้ปลูกเลี้ยงตั้งโชว์ในที่ที่ต้องการ
              การขุดขึ้นปลูกในกระถางจะกระทำในทันทีทันใดไม่ได้       จะต้องเตรียมการเพื่อให้ต้นไม้ได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม (กระถาง) ที่จะเข้าไปดำรงชีวิตอยู่ใหม่เสียก่อน โดยจะต้องขุดล้อมดินรอบ ๆ ต้นให้ห่างประมาณ 25-30 เซนติเมตร ตัดรากให้เหลือไว้ 1-2 ราก แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่น้อยกว่า 5-6 เดือน การขุดล้อมควรขุดในฤดูฝน จะเป็นการดีที่สุด      เมื่อถึงเวลาที่จะต้องขุดเพื่อยกขึ้นมาปลูกในกระถางก็   ให้ขุดและตัดรากขึ้นมาปลูกในกระถางที่ได้เตรียมไว้
              ในขั้นตอนนี้ นับว่าสำคัญยิ่งขั้นตอนหนึ่งเพราะถ้านำไม้ดัดขึ้นปลูกในกระถางแล้วไม่ตาย ก็ถือว่าผู้เลี้ยงไม้ดัดผู้นั้นประสบผลสำเร็จและน่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

การรดน้ำและให้ปุ๋ย

ในช่วงที่นำขึ้นปลูกในกระถางใหม่ ๆ ระยะแรก ๆ ควรรดน้ำให้ความชุ่มชื้นอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็จะต้องไม่ให้โชกหรือแฉะจนเกินไป เพราะอาจทำให้รากเน่าและตายได้ การให้น้ำควรจะให้ตอนเช้า ในขณะที่แดดไม่ร้อนจัด
              หลังจากนั้นประมาณ 1-2 เดือนเมื่อเห็นว่าต้นไม้ดัดไม่ตาย และเริ่มแตกใบแตกตาออกมา  ก็ให้น้ำน้อยลงได้ การสังเกตว่าการให้น้ำเพียงพอหรือไม่ ให้ดูที่ใบ ถ้าไม่เหี่ยวเฉาในตอนเย็น ก็แสดงว่าการให้น้ำพอดีแล้ว
              ถ้าหากต้องการเร่งให้ต้นแตกพุ่มใบรวดเร็วขึ้นก็ให้ปุ๋ยเพิ่มเติม โดยการใช้ปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำฉีดพ่นทางใบ จะทำให้การเจริญเติบโตรวดเร็วขึ้น

การตัดแต่งรักษารูปทรงช่อใบ

ผู้ปลูกเลี้ยงจะต้องคอยหมั่นตัดแต่งกิ่งและช่อใบให้ได้ทรงพุ่มสวยงามตามแม่แบบอยู่เสมอ เพื่อให้ได้ไม้ดัดที่ดูสวยงามตามต้องการ   ซึ่งจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2  ปีขึ้นไป   และถ้าต้องการให้ได้   ไม้ดัดที่สมบูรณ์เต็มที่ รูปทรงงามพร้อม  คงต้องใช้เวลาตัดแต่งต่ออีก 2-3 ปี    รวมแล้วต้องใช้เวลา 5-10   ปีขึ้นไป นับตั้งแต่เริ่มทำ  จึงจะได้ไม้ดัดที่สวยสมบูรณ์คุ้มค่าแก่การรอคอย  สำหรับพุ่มใบถ้าตัดแต่งเป็นเวลานานจะเกิดการแคระแกร็น ใบแก่จะมีสีไม่เขียวสดใส ต้องใช้วิธีรูดเอาใบตามพุ่มออกให้หมด เพื่อให้แตกใบใหม่ที่เขียวสดสวยกว่าใบเก่า การรูดใบทิ้งนี้ควรทำในช่วง ฤดูฝน หรือก่อนเข้าฤดูฝนเล็กน้อยจะทำให้แตกใบใหม่ได้ดี

โรคแมลงศัตรูของไม้ดัดและการป้องกันรักษา

สำหรับไม้ดัดโดยเฉพาะข่อย ไม่มีโรคระบาดอย่างรุนแรงจนได้รับความเสียหาย จะมีบ้างก็คือแมลงปีกแข็ง เพลี้ยแป้ง เชื้อรา กัดกินและทำลายใบเท่านั้น  ฉะนั้นการป้องกันเพียงใช้ยาฆ่าแมลง ฆ่าเชื้อรา ผสมกับน้ำให้มีความเจือจางฉีดพ่นประมาณ 1-2 เดือน ต่อครั้งก็เยงพอแล้ว